วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

ประเพณีไทยของภาคใต้ 

ประเพณีแห่พระแข่งเรือ จ.ชุมพร

         ประเพณีแห่พระแข่งเรือจัดขึ้นในช่วงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ (วันออกพรรษา) ของทุกปี
งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น โดยเฉพาะการขึ้นโขนชิงธง ที่นายท้ายเรือต้องถือท้ายเรือให้ตรงเพื่อให้นายหัวเรือคว้าธงที่ทุ่นเส้นชัย โดยการขึ้นโขนเรือ
การแข่งเรือของอำเภอหลังสวนเริ่มมีครั้งแรกในสมัยพระยาจรูญราชโภคากร เป็นเจ้าเมืองหลังสวน เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นการลากพระชิงสายกันในแม่น้ำ โดยใช้เรือพายเป็นเรือดึงลากแย่งกัน วัด หรือหมู่บ้านใดมีเรือมากฝีพายดี ก็แย่งพระไปได้ อัญเชิญพระไปประดิษฐานไว้ในวัดที่ตนต้องการ มีงานสมโภชอย่างสนุกสนานในตอนกลางคืน รุ่งเช้าถวายสลากภัต
ต่อมาสมัยหลวงปราณีประชาชน อำมาตย์เอก ได้ดัดแปลงให้มีสัญญาณในการปล่อยเรือโดยใช้เชือกผูกหางเรือคู่ที่จะแข่ง ให้เรือถูกพายไปจนตึงแล้วใช้มีดสับเชือกที่ผูกไว้ให้ขาด
ลักษณะของเรือที่ใช้แข่งในปัจจุบันขุดจากไม้ซุง (ตะเคียน) ทั้งต้น ยาวประมาณ ๑๘-๑๙ เมตร มีธงประจำเรือติดอยู่ เรือแข่งจะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ฝีพาย ๓๐ คน และฝีพาย ๓๒ คน ฝีพายจะนั่งกันเป็นคู่ ยกเว้นนายหัวกับนายท้าย เรือแต่ละลำจะมีฆ้องหรือนกหวีดเพื่อตีหรือเป่าให้จังหวะฝีพายได้พายอย่างพร้อมเพรียงกัน
รางวัลสำหรับการแข่งขันในสมัยก่อน เรือที่ชนะจะได้รับผ้าแถบหัวเรือ ส่วนฝีพายจะได้รับผ้าขาวม้าคนละผืน ต่อมาเป็นการแข่งขันชิงน้ำมันก๊าด เพื่อนำไปถวายวัด เพราะเรือส่วนใหญ่เป็นเรือของวัด และตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา เป็นการแข่งขันเพื่อชิงโล่พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กติกาการปล่อยเรือและการเข้าเส้นชัยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์ เช่น ในปัจจุบันมีการแบ่งสายน้ำโดยการจับสลาก กำหนดระยะทางที่แน่นอน คือ ๕๐๐ เมตร มีเรือเข้าร่วมแข่งขันทั้งเรือในท้องถิ่นจังหวัดชุมพรเอง และเรือจากต่างจังหวัด สถานที่คือวัดด่านประชากร



ประเพณีลากพระ(ชักพระ) จ.นครศรีธรรมราช

        ประเพณีลากพระ(ชักพระ)จะทำกันในวันออกพรรษา คือวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ โดยตกลงนัดหมายลากพระไปยังจุดศูนย์รวมและวันรุ่งขึ้น แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ จึงลากพระกลับวัด
ประเพณีลากพระ(ชักพระ) ถือเป็นประเพณีทำบุญในวันออกพรรษา ปฏิบัติตามความเชื่อว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนไปรับเสด็จ แล้วอัญเชิญพระพุทธเจ้าประทับบนบุษบกแล้วแห่แหน
พิธีกรรม
๑. การแต่งนมพระ
นมพระ หมายถึงพนมพระเป็นพาหนะที่ใช้บรรทุกพระลาก นิยมทำ ๒ แบบ คือ ลากพระทางบก เรียกว่า นมพระ ลากพระทางน้ำ เรียกว่า "เรือพระ" นมพระสร้างเป็นร้านม้า มีไม้สองท่อนรองรับข้างล่าง ทำเป็นรูปพญานาค มีล้อ ๔ ล้ออยู่ใต้ตัวพญานาค ร้านม้าใช้ไม้ไผ่สานทำฝาผนัง ตกแต่งลวดลายระบายสีสวย รอบ ๆ ประดับด้วยผ้าแพรสี ธงริ้ว ธงสามชาย ธงราว ธงยืนห้อยระยาง ประดับต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้สดทำอุบะห้อยระย้า มีต้มห่อด้วยใบพ้อแขวนหน้านมพระ ตัวพญานาคประดับกระจกแวววาวสีสวย ข้าง ๆ นมพระแขวนโพน กลอง ระฆัง ฆ้อง ด้านหลังนมพระวางเก้าอี้ เป็นที่นั่งของพระสงฆ์ ยอดนมอยู่บนสุดของนมพระ ได้รับการแต่งอย่างบรรจงดูแลเป็นพิเศษ เพราะความสง่าได้สัดส่วนของนมพระขึ้นอยู่กับยอดนม
๒. การอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนนมพระ
พระลาก คือพระพุทธรูปยืน แต่ที่นิยมคือ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ พุทธบริษัทจะสรงน้ำพระลากเปลี่ยนจีวร แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนนมพระ แล้วพระสงฆ์จะเทศนาเรื่องการเสด็จไปดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า ตอนเช้ามืดในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ชาวบ้านจะมาตักบาตรหน้านมพระ เรียกว่า ตักบาตรหน้าล้อ เสร็จแล้วจึงอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนนมพระ ในตอนนี้บางวัดจะทำพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อให้การลากพระราบรื่น ปลอดภัย
๓. การลากพระ
ใช้เชือกแบ่งผูกเป็น ๒ สาย เป็นสายผู้หญิงและสายผู้ชาย โดยใช้โพน (ปืด) ฆ้อง ระฆัง เป็นเครื่องตีให้จังหวะเร้าใจในการลากพระ คนลากจะเบียดเสียดกันสนุกสนานและประสานเสียงร้องบทลากพระเพื่อผ่อนแรง


ประเพณีการเดินเต่า จ.พังงา

        ประเพณีการเดินเต่าจะจัดในช่วงเวลาที่เต่าทะเลหลายชนิดขึ้นมาวางไข่บนหาด เมื่อถึงฤดูวางไข่คือประมาณ เดือน ๑๑ แรม ๑ ค่ำ ราวปลายเดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงเดือน ๔ ราว ๆ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนก่อนหรือหลังเวลาที่ว่ามานี้มีบ้างเล็กน้อย
ประเพณีการเดินเต่า คือการเดินหาเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย ซึ่งแหล่งที่มีการเดินเต่าทางภาคใต้นั้นมีหลายแหล่ง โดยเฉพาะบริเวณที่มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่คือบริเวณชายฝั่ง แถวฝั่งทะเลด้านตะวันตก หรือชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ทางตะวันตกของจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นหาดทรายที่มีความยาวโดยตลอดร่วม ๑๐๐ กิโลเมตร ซึ่งในบริเวณชายฝั่งทะเลนั้น จะมีเต่าทะเลหลายชนิดขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย เมื่อถึงฤดูวางไข่ ชนิดของเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่ตามชายฝั่งตะวันตกนี้มีหลายชนิด ซึ่งชาวบ้านเรียกกันหลายชื่อได้แก่ เต่ากระ เต่าเฟือง เต่าเล็ก เต่าหางยาว เป็นต้น
ในแต่ละปีเต่าทะเลแต่ละชนิดจะขึ้นมาวางไข่ ๔ ครั้ง การวางไข่ของเต่าทะเลนั้นมีนิสัยที่แปลกประหลาดและน่าสนใจกว่าสัตว์อื่น ๆ ตรงที่จะขึ้นมาวางไข่ประจำที่หรือประจำหาด ทั้ง ๆ ที่ทะเลนั้นกว้างใหญ่ไพศาล เป็นต้นว่าเต่าทะเลตัวใด ที่ขึ้นมาวางไข่ที่หาดไหนคราวต่อไปก็ขึ้นมาวางไข่ตรงที่หาดนั้นทุกครั้งไป เป็นประจำทุกปี อาจยกเว้นว่าบางครั้งมันอาจขึ้นมาพบคนรบกวนก็อาจต้องเปลี่ยนไปที่หาดอื่น บริเวณใกล้ ๆ กัน
เนื่องจากลักษณะของเต่าทะเลพิศดารอย่างนี้ ชาวบ้านในสมัยก่อนจึงสามารถเก็บไข่เต่าได้ โดยอาศัยความทรงจำของเต่าให้เป็นประโยชน์ เพราะว่าเต่าทะเลแต่ละตัวหากขึ้นวางไข่ที่ใดแล้ว หลังจากนั้นไปเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ หรือ ๒ สัปดาห์ เต่าตัวเดิมนี้ จะขึ้นมาวางไข่อีกที่หาดเดิม แต่ตำแหน่งที่คลานขึ้นมาวางไข่จะห่างจากที่เคยขึ้นวางไข่ครั้งก่อนราว ๑๐-๒๐ เมตร อาจเป็นเพราะว่ามันกลัวจะไปขุดถูกหลุมไข่ที่เคยวางไว้แล้ว ก็เป็นได้ ส่วนเวลาไหนนั้นชาวบ้านจะต้องคำนวณโดยการนับน้ำว่าวันที่ครบกำหนดวางไข่นั้นเป็นวันข้างขึ้นหรือแรมกี่ค่ำ ก็พอรู้ได้ว่าเวลาเท่าไรที่น้ำขึ้นครึ่งฝั่งน้ำลงครึ่งฝั่ง ซึ่งเป็นเวลาที่เต่าขึ้นวางไข่ จากนั้นก็สามารถเอาตะกร้าไปรอรับไข่เต่าได้ถูกต้องโดยไม่ต้องเดินไปเดินมาและไม่ต้องเสียเวลาหาหลุมไข่เต่าในตอนหลัง เช่นครั้งที่ ๑ ขึ้นมาวางไข่ในแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ ครั้งต่อไปก็จะขึ้นวางอีกในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (หลังจากครั้งก่อน ๗ วัน) หรืออาจไม่ขึ้นมาวางไข่ในวันดังกล่าวนี้ ก็จะขึ้นมาวางไข่ในวันขึ้น ๗ ค่ำเดือน ๑๒ (หลังจากครั้งก่อน ๑๔ วัน) จากปากคำของชาวบ้านที่เคยได้สัมปทานไข่เต่าหรือเรียกกันในภาษาเดิมว่า "ผูกเต่า" บอกว่าใช้วิธีนี้ทำให้ไม่ต้องเดินให้เมื่อยเลย อาจจนอนอยู่ที่บ้านแล้วพอถึงเวลาที่คำนวณไว้ก็ค่อยเดินไปนั่งรอที่จุดนั้น ๆได้ และมักจะถูกต้องเสมอทุกคราวไป
แต่ในปัจจุบันนี้ ประเพณีการเดินเต่าไม่มีแล้ว เพราะว่าประชาชนในท้องถิ่นได้ร่วมมือกันอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ เต่าทะเล เป็นต้น ถ้าบุคคลใดฝ่าฝืนใน ถือเป็นการทำผิดกฎหมายถูกดำเนินคดีทางกฎหมายได้
ประเพณีการเดินเต่าจะทำกันในตอนกลางคืน ซึ่งเริ่มตั้งแต่พลบค่ำจนสว่าง สำหรับคนรุ่นใหม่ ๆ นั้นหากไม่ค่อยมีความรู้ ก็อาจเดินหาตามความยาวของหาดทราย ระยะทางหลายกิโลเมตร โดยไม่เจอไข่เต่า แม้แต่หลุมเดียว (หลุมรัง) ก็เป็นได้ แต่สำหรับคนรุ่นก่อน ๆ นั้นมีเคล็ดในการหาไข่เต่าหลายอย่าง อย่างแรก คือเวลาที่เต่าจะขึ้นมาวางไข่ เต่าจะขึ้นมาวางไข่เมื่อไหร่นั้นให้ดูได้คือ
๑. ให้ดูดาวเต่า ดาวเต่านี้จะประกอบด้วยดาวหลายดวงซึ่งคนที่ชำนาญจะมองเห็นเป็นรูปเต่า ตำแหน่งที่ดาวเต่าเริ่มหันหัวลงทางทิศตะวันตก คือดาวเต่าเริ่มคล้อยลง (คล้าย ๆ กับดวงอาทิตย์ตั้งแต่เวลา ๑๙.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป) เมื่อดาวเต่าหันหัวลงทะเลก็เป็นเวลาที่เดินเต่าได้ คนโบราณเชื่อว่าเต่าจะขึ้นมาวางไข่เวลานี้
๒. ให้ดูน้ำ หมายถึงน้ำทะเลขึ้นลงนั่นเอง หากว่าน้ำขึ้นครึ่งฝั่ง หรือน้ำลงครึ่งฝั่ง ก็เป็นเวลาที่เต่าทะเลจะขึ้นมาวางไข่ ไม่ปรากฏว่าเต่าทะเลขึ้นมาขณะน้ำลดน้ำขึ้นมา
ดังนั้น เต่าทะเลก็มีกำหนดเวลาขึ้นวางไข่ในเวลาที่ไม่ซ้ำกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นวันข้างขึ้นหรือข้างแรม กี่ค่ำที่ทำให้น้ำขึ้นลงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ


ประเพณีชิงเปรต จ.พัทลุง

       ประเพณีชิงเปรตจะจัดขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ และ วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐
"ชิงเปรต" เป็นประเพณีของภาคใต้ที่กระทำกันในวันสารท เดือน ๑๐ เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า การชิงเปรตที่ปฏิบัติกันในประเพณีสารทเดือน ๑๐ นี้ มีลักษณะคล้ายกับการทิ้งกระจาดของจีน แต่การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรต-ชิงเปรตเพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี(เปรต) ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเอง และที่ไม่มีญาติด้วย นอกจากนี้วิธีการปฏิบัติในการทิ้งกระจาดและการชิงเปรตก็แตกต่างกันด้วย
ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้ยืนยันว่าการชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการทำบุญด้วยซ้ำไป เพราะชื่อว่าบุตรหลานของเปรตตนใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนนั้น เพียงแต่ว่าผู้ชิงต้องระมัดระวังในการที่อาหารหรือขนมที่ตั้งเปรตอาจตกหลานลงพื้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสกปรกและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น
การตั้งเปรต และชิงเปรตจะกระทำกันในวันที่ยกหมรับไปวัด ไม่ว่าจะเป็นวันแรม ๑ ค่ำ หรือ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ ก็ตาม ผู้ตั้งเปรตจะนำอาหารอีกส่วนหนึ่งไปเพื่อการตั้งเปรตด้วย อาหารที่ใช้ตั้งเปรตนี้ส่วนมากเป็นอาหารที่บรรพบุรุษที่เป็นเปรตชอบอย่างละนิดอย่างละหน่อย ขนมที่ไม่ขาดคือ ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมเบซำ(ดีซำ) นอกจากขนมดังกล่าวแล้ว ยังมีของแห้งที่ใช้เป็นเสบียงกรังก็จัดฝากไปด้วย เช่น ข้าวสาร หอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล น้ำปลา กล้วย อ้อย มะพร้าว ด้าย เข็มเย็บผ้า ธูปเทียน นำลงจัดในหมรับ โดยเอาของแห้งรองก้นและอยู่ภายใน ส่วนขนมทั้งหลายอยู่ชั้นนอก ปิดคลุมด้วยผืนลาทำเป็นรูปเจดีย์ยอดแหลม หรือรูปอื่นแล้วแต่การประดิษฐ์ของผู้จัด ส่วนภาชนะที่ใช้ แต่เดิมนิยมใช้กระเชอหรือถาด รวมกันตั้งไว้บน "ร้านเปรต" ซึ่งสร้างไว้กลางวัดยกเสาสูง ต่อมาในระยะหลัง ๆ ร้านเปรตทำเป็นศาลา หลังคามุงจากหรือมุงกระเบื้องแล้วแต่ฐานะของวัด บางถิ่นจึงเรียก "หลาเปรต" บนร้านเปรตจะมีสายสิญจน์วงล้อมไว้รอบและต่อยาวไปจนถึงพระสงฆ์ที่นั่งอยู่ในวิหารที่เป็นที่ทำพิธีกรรม โดยสวดบังสุกุลอัฐิหรือกระดาษเขียนชื่อของผู้ตาย ซึ่งบุตรหลายนำมารวมกันในพิธีต่อหน้าพระสงฆ์ บุตรหลานจะกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปยังเปรตชนที่เป็นบรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว เก็บสายสิญจน์ ขนมต่าง ๆ จะถูกแบ่งออกส่วนหนึ่ง พร้อมกับของแห้งไว้ถวายพระ อีกส่วนหนึ่งให้เปรตชนที่พอมีกำลังเข้ามาเสพได้ ในขณะเดียวกันผู้ที่มาร่วมทำบุญทั้งหนุ่มสาว เฒ่าแก่ และโดยเฉพาะเด็ก ๆ จะเข้าไปรุมกันแย่งขนมที่ตั้งเปรตด้วยความสนุกสนาน เชื่อกันว่า การแย่งขนมเปรตที่ผ่าการทำพิธีแล้วนี้จะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว และยังเชื่อกันต่อไปว่าขนมเหล่านี้ถ้านำไปหว่านในสวนในนา จะทำให้พืชผลอุดมสมบูรณ์เพิ่มผลผลิตสูง โดยเฉพาะขนมเทียน บางแห่งนำไปติดไว้ตามต้นไม้ผลเพื่อให้มีผลดก หลังจากนั้น ก็มักมีผู้ใจบุญโปรยทาน โดยใช้เหรียญสตางค์โดยไปที่ละมากเหรียญ ตรงไปยังฝูงชน ที่เรียกว่า "หว่านกำพรึก" แย่งกันอย่างนุกสนาน


ประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย จ.นราธิวาส

     ประเพณีการแข่งเรือกอและและเรือยาวด้วยฝีพายหน้าพระที่นั่ง ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในระหว่างวันที่ ๒๑-๒๕ กันยายน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์
ในการเสด็จแปรพระราชฐานทุกครั้งจะทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียงทุกหมู่เหล่า ทรงวางโครงการน้อยใหญ่เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้มีความสงบสุขร่มเย็นด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯประชาชนชาวจังหวัดนราธิวาสต่างเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรจัดให้มีการแข่งขันเรือกอและอันเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวจังหวัดนราธิวาสถวายทอดพระเนตรเพื่อเทิดพระเกียรติในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นและเป็นการฟื้นฟูประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย หน้าพระที่นั่ง และทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดการแข่งขันเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๙ อีกทั้งได้พระราชทานถ้วยรางวัลแก่ทีมเรือที่ชนะการแข่งขันด้วย
การแข่งขันใช้เรือกอและระยะทาง ๖๕๐ เมตร ผู้ควบคุมลำละ ๑ คน จำนวนฝีพายรวมทั้งนายท้ายไม่เกินลำละ ๒๓ คน และมีฝีพายสำรองไม่เกินลำละ ๕ คน การเปลี่ยนตัวในแต่ละเที่ยวทำได้เที่ยวละไม่เกิน ๕ คน ทั้งนี้ให้ผู้ควบคุมทีมประจำเรือแจ้งให้คณะกรรมการปล่อยเรือทราบ เรือที่เข้าแข่งขันทุกลำต้องถึงจุดเริ่มต้น (จุดปล่อยเรือ) ก่อนเวลาที่กำหนดแข่งขันในรอบนั้น หากไปช้ากว่ากำหนดเกิน ๑๕ นาทีถือว่าสละสิทธิ์จะปรับแพ้ในรอบนั้นได้ ก่อนการได้ยินสัญญาณ ณ จุดเริ่มต้นฝีพายทุกคนยกพายให้พ้นผิวน้ำ ยกเว้นนายท้ายเรือให้ใช้พายคัดท้ายเรือบังคับเรือให้หยุดนิ่ง และจะต้องวิ่งในลู่ของตน หากวิ่งผิดลู่หรือสายน้ำถือว่าผิดกติกาให้ปรับเป็นแพ้ในเที่ยวนั้น เรือที่เข้าถึงเส้นชัยก่อนลำอื่นโดยถือหัวเรือสุดเป็นการชนะการแข่งขันในเที่ยวนั้น การแข่งขันแบ่งเป็น ๔ รอบ รอบที่ ๑ และรอบที่ ๒ เป็นรอบคัดเลือก รอบที่ ๓ เป็นรอบรองชนะเลิศและรอบที่ ๔ เป็นรอบชิงชนะเลิศ


ประเพณีกินผัก(กินเจ) จ.ภูเก็ต

          ประเพณีกินผักกินเจจะจัดขึ้นตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ ถึงขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ของจีน ตรงกับเดือน ๑๑ ของไทย
คนภูเก็ตส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ประเพณีและความเชื่อของคนจีนจึงฝั่งรากลึก และยึดถือปฏิบัติสืบทอดอยู่จนปัจจุบัน เมื่อถึงเทศกาลกินผัก ชาวภูเก็ตร้อยละแปดสิบจะปฏิบัติตามประเพณีนิยม พร้อมใจกันแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาว ร่วมกันถือศีลกินผัก เพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ และระลึกถึงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ตนเคารพนับถือ โดยยึดถือวิญญาณนั้น ๆ เป็นเสมือนเจ้าหรือเซียน ให้ช่วยปกป้องคุ้มครอง
พิธีกรรม
๑. การถือศีล การปฏิบัติจะเริ่มในแรม ๑ ค่ำเดือน ๙ ผู้ที่ถือศีลกินผักจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาว ละเว้นจากสิ่งที่ทำให้จิตใจมัวหมอง รักษากาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ เว้นจากการพูดโกหก เบียดเบียน ลักทรัพย์ และการข้องแวะในกาม การดื่มสุราของมึนเมา และเว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. พิธีบูชาเจ้า ประเพณีถือศีลกินผัก เริ่มด้วยการจุดตะเกียงน้ำมัน ขึ้นสู่เสาใหญ่สีแดง ที่ตั้งสูงตระหง่านที่หน้าอ้าม (ศาลเจ้า) เรียกว่า เสาโกเต๊ง ซึ่งจะยกเสาในตอนเย็นก่อนเริ่มงานหนึ่งวัน เสาโกเต๊งเป็นเครื่องหมายสำคัญที่อัญเชิญดวงวิญญาณของเจ้ามาประทับ บนยอดเสาจะแขวนตะเกียงไว้ ๙ ดวง หมายถึง วิญญาณของกิ๋วอ๋องไตเต (ผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้า) วันรุ่นขึ้นซึ่งเป็นวันงานจะมีการบูชาเจ้าด้วยการจุดธูปขนาดใหญ่ เผาไม้หอม กระดาษเงินกระดาษทอง ตั้งเครื่องเซ่นบูชาเจ้า
๓. การอัญเชิญเจ้าเข้าทรง จะทำที่อ้ามทุกวันโดยเฉพาะวันสำคัญคือวัน ๓ ค่ำ ๖ ค่ำ และ ๙ ค่ำ โดยมีม้าทรง (คนทรง) และพี่เลี้ยง ๒-๓ คนเป็นผู้ช่วย คอยกล่าวบทอัญเชิญ ตีล่อโก๊ะ ตีกลอง จุดธูป เผาไม้หอม เซ่นไหว้ด้วยผลไม้ เมื่อเจ้าประทับทรงแล้ว ม้าทรงจะหยิบธงหรืออาวุธคู่มือของเจ้าได้ถูกต้อง พี่เลี้ยงจะคอยเอาเสื้อยันต์ประจำตัวของเจ้ามาผูกใส่ให้ เจ้าจะคว้าอาวุธคู่มือมาร่ายรำฟาดฟันร่างกายตนเอง
๔. พิธีโขกุ้น เป็นการบวงสรวงทหารของเจ้า ซึ่งเป็นบริเวณของเจ้าแต่ละองค์ จะทำพิธีใน ๓ ค่ำ ๖ ค่ำ และ ๙ ค่ำ หลังเที่ยง จะเตรียมอาหารและเหล้า ส่วนหญ้าและถั่วจะเป็นอาหารม้า ในตอนกลางคืนจะตรวจพลทหารตามทิศต่าง ๆ ๕ ทิศ
๕. พิธีซ้องเก็ง คือการสวดมนต์ เริ่มสวดตั้งแต่กิ๋วอ๋องฮุดโจ้ว เข้าประทับในโรงพระจะทำพิธีสวดวันละ ๒ ครั้ง ในตอนเช้าและตอนย่ำค่ำ หลังจากสวดมนต์กลางคืนแล้วจะมีการอ่านรายชื่อผู้ที่เข้าร่วมกินผัก เป็นการเบิกตัวเข้าเฝ้าเจ้า
๖. พิธีบูชาดาว ทำในคืน ๗ ค่ำ เพื่อให้ช่วยคุ้มครองผู้ที่กินผัก ในพิธีจะมีการทำฮู้ (กระดาษยันต์) แจก
๗. พิธีพระออกเที่ยว (การแห่เจ้า) โดยเจ้าจะออกเยี่ยมประชาชนตามบ้าน มีขบวนธงและป้ายชื่อแห่นำหน้า มีขบวนหามเกี้ยวพระโดยมีรูปเจ้าแต่ละองค์นั่งในเกี้ยวไปตามลำดับชั้นและยศของเจ้า ขบวนเกี้ยวใหญ่ใช้คนหาบ ๘ คน จะเป็นที่ประทับของกิ๋วอ๋องฮุดโจ้ว ชาวบ้านจะตั้งโต๊ะบูชาหน้าบ้านและจุดประทัดต้อนรับเมื่อขบวนไปถึง
๘. พิธีลุยไฟ กองไฟถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ใช้ชำระความสกปรกของร่างกายให้บริสุทธิ์ ในแง่ความศักดิ์สิทธิ์เป็นการแสดงอิทธิฤทธิ์บังคับไฟไม่ให้ร้อน ลุยได้ทั้งเจ้าและประชาชนทั่วไป
๙. พิธีโก๊ยห่าน เป็นการสะเดาะเคราะห์ ต้องตัดกระดาษทองเป็นรูปคนแทนตัวเองคนละรูป ตัดผม ตัดเล็บ เหรียญกษาปณ์ ต้นกุ้ยช่ายแทนสิ่งชั่วร้ายในตัวคน นำสิ่งเหล่านี้มาที่ศาลเจ้าแล้วให้เจ้าประทับตราที่ด้านหลังเสื้อ ผู้ที่ผ่านพิธีโก๊ยห่านมาแล้วจะมีตราประทับติดเสื้อด้านหลังทุกคน
๑๐. พิธีส่งพระ ทำในวันสุดท้ายของการกินผัก โดยตอนกลางวันจะมีการส่งเทวดา คือเง็กเซียนฮ่องเต้ที่เสาธง ตอนกลางคืนจะมีการส่งพระกิ๋วอ๋องฮุดโจ้วกลับสวรรค์ โดยส่งกลับทางทะเล เมื่อขบวนส่งพระออกพ้นประตู ไฟทุกดวงในอ้ามต้องดับแล้วปิดประตูใหญ่ ตะเกียงที่เสาธงถูกดึงขึ้นสูงสุด รุ่งเช้าจึงเอาเสาธงลงและเรียกกำลังทหารกลับ


ประเพณีการกวนข้าวอาซูรอ(ขนมอาซูรอ) จ.ยะลา

     ประเพณีการกวนข้าวอาซูรอ(ขนมอาซูรอ)จัดตรงกับวันที่ ๑๐ เดือนมุฮัรรอมซึ่งเป็นเดือนแรกของปีของศาสนาอิสลาม(ประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี)
ความเป็นมาของการกวนข้าวอาซูรอ หรือกวนขนมอาซูรอสืบเนื่องจากได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในสมัยนบีนุฮ (อล) ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ไร่นาของประชาชนและสาวกของนบีนุฮ (อล) และคนทั่วไปอดอาหาร นบีนุฮ (อล) จึงประกาศให้ผู้ที่มีสิ่งของเหลือพอจะรับประทานได้ ให้เอามากองรวมกัน และให้เอาของเหล่านั้นมากวนเข้าด้วยกัน เพื่อให้ทุกคนได้รับประทานอาหารกันโดยทั่วหน้า
การกวนข้าวอาซูรอ (ขนมอาซูรอ) เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำว่า อาซูรอ เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม การรวมกัน คือการนำสิ่งของที่รับประทานได้หลายสิ่งหลายอย่างมากวนรวมกัน มีทั้งชนิดคาวและหวาน การกวนข้าวอาซูรอจะใช้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อความสามัคคีและสร้างความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อันมีผลต่อการอยู่ร่วมกันของสังคมอย่างมีความสุข ก่อนจะแจกจ่ายให้รับประทานกัน เจ้าภาพจะเชิญบุคคลที่นับถือของชุมชนขึ้นมากล่าวขอพร (ดูอา) ก่อน จึงจะแจกให้คนทั่วไปรับประทานกัน
การกวนข้าวอาซูรอเริ่มด้วยการที่เจ้าภาพประกาศเชิญชวนนัดหมายให้ชาวบ้านทราบว่าจะมีการกวนข้าวอาซูรอกันที่ไหน เมื่อใด เมื่อถึงกำหนดนัดหมายชาวบ้านก็จะนำอาหารดิบ เช่น เผือกมัน ฟักทอง มะละกอ กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เป็นต้น มารวมเข้าด้วยกันแล้วปอกหั่น ตัดให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จากนั้นนำเครื่องปรุง เช่น ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ เป็นต้น มาเป็นเครื่องผสมโดยหั่นตัดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เช่นเดียวกัน สำหรับกะทิจะคั้นเฉพาะน้ำมาผสม
วิธีกวน นำกะทะใบใหญ่ตั้งไฟ มีไม้พายสำหรับคนขนมอาซูรอ หลังจากตั้งกะทะบนเตา คั้นน้ำกะทิใส่ลงไป ตำหรือบดเครื่องแกงหยาบ ๆ ใส่ลงในน้ำกะทิ เมื่อกะทิเดือดใส่อาหารดิบต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว คนด้วยไม้พายจนกระทั่งทุกอย่างเปื่อยยุ่ย กวนต่อไปจนเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อแห้งได้ที่แล้วตักใส่ถาด โรยหน้าด้วยไข่เจียวหั่นบาง ๆ หรืออาจโรยหน้ากุ้ง เนื้อสมัน ปลาสมัน ผักชี หอมหั่นฝอย แล้วแต่รสนิยมของท้องถิ่น แล้วตัดเป็นชิ้น ๆ แจกจ่ายกันรับประทาน


ประเพณีงานเสด็จพระแข่งเรือ จ.ระนอง

        ประเพณีงานเสด็จพระแข่งเรือเป็นงานประเพณีที่สำคัญของอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ซึ่งจัดขึ้นในช่วงออกพรรษของทุกปี ประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ณ บริเวณแม่น้ำกระบุรี ในช่วงคอคอดกระ
เป็นประเพณีที่ชาวอำเภอกระบุรีจะร่วมกันตกแต่งเรืออย่างสวยงาม เพื่อไปพายกันในแม่น้ำกระบุรี มีการประกวดเรือประเภทต่าง ๆ งานเสด็จพระแข่งเรือจัดขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๐ โดยสืบทอดประเพณีมาจากทางใต้
พิธีกรรม
๑. นำเรือมาตกแต่งให้สวยงามทำเป็นเรือพระ โดยจัดทำพนมพระอยู่กลางลำเรือ
๒. อัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานในพนมพระกลางลำเรือแล้วจัดสมโภชพระพุทธรูปกลางน้ำ
๓. หลังจากสมโภชพระพุทธรูปกลางน้ำแล้ว จะมีการแห่เรือพระไปตามลำน้ำกระบุรีซึ่งเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า
๔. การร้องเพลงเรือโดยเรือชาวบ้านมีการร้องเพลงเรือกันอย่างสนุกสนาน และมีการประกวดเพลงเรือด้วย
๕. มีการแข่งขันเรือประเภทต่างๆ เช่น ประกวดเรือยาว ประเภทสวยงาม ประเภทความคิดและประเภทตลกขบขัน

ประเพณีการแข่งขันว่าว จ.สตูล

       ประเพณีการแข่งขันว่าวจัดขึ้นในต้นสัปดาห์แรกเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี
การแข่งขันว่าวประเพณีจังหวัดสตูล เริ่มมีวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ โดยคณะครู-อาจาย์โรงเรียนสตูลวิทยา และชาวบ้านตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ริเริ่มจัดการแข่งขัน เนื่องจากช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ลงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ลมว่าวกำลังพัดย่านท้องที่สนามบิน และในจังหวัดภาคใต้ เหมาะแก่การเล่นว่าว ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นเมืองที่ลงทุนน้อย เล่นง่าย เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ประดิษฐ์ว่าวประเภทต่างๆ ขึ้นมา ประกอบคนชาวไทยเป็นนักประดิษฐ์ ช่างคิด ช่างทำ เห็นควายอยู่ในนาที่กำลังเก็บเกี่ยวจึงได้จำลองหน้าตาของควายลงในตัวว่าว ขณะที่ว่าวลอยกลางอากาศส่วนหางจะอยู่บน ส่วนหัว เขา จมูก หู อยู่ส่วนล่าง ว่าวมีเสียงดัง อยู่ไม่นิ่ง ส่ายไปมาเหมือนนิสัยบ้าบิ่นของควาย ชาวบ้านจึงเรียกว่าวควาย เป็นสัญลักษณ์ของการเล่นว่าวในจังหวัดสตูล เป็นที่นิยมของประชาชนในจังหวัดใกล้เคียง เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
อดีตว่าวเป็นเครื่องมือวัด ลม เป็นอุปกรณ์เสี่ยงทายถึงความเจริญก้าวหน้าของท้องถิ่นนิทาน หรือตำนานของไทย เช่น เรื่องแก้วหน้าม้า ว่าวสมัยก่อน พระมหากษัตริย์ให้ความสนใจมากหากว่าวตกลงบ้านใคร เจ้าของบ้านจะได้รับรางวัลเป็นสิ่งตอบแทน ชาวจีนใช้ว่าวทำสงคราม ชาวฝรั่ง เช่น เบ็ญจามิน แพรงกิน ใช้ว่าวทดลองทางวิทยาศาสตร์
ว่าวจุฬา - ปักเป้า เป็นว่าวที่พระราชาทรงโปรด จัดให้มีการแข่งขันท้องสนามหลวง ว่าวจุฬา แต่ละตัวที่จัดทำขึ้นต้องมีพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น การค้นหาไม้ไผ่ที่แก่จัด อยู่กลางกอไผ่ มีอายุที่กำหนดไว้ เมื่อตัดไม้ไผ่แล้วต้องไปแช่น้ำระยะหนึ่ง จึงจะมาตกแต่ง มีการรมควันเพื่อให้ไม้ไผ่ทนทาน ไม่มีมอด แมลงมาชอนไช การตกแต่งโครงว่าว การผูกเชือก การติดกระดาษ ล้วนแต่ใช้ภูมิปัญญาไทย บางครั้งต้องมีการเซ่นไหว้ เพื่อให้มีชัยชนะ

ประเพณีรับส่งตายาย จ.สุราษฎ์ธานี

        ประเพณีรับ - ส่งตายาย เป็นประเพณีทำบุญวันสาร์ทในเดือนสิบ ซึ่งจะจัดขึ้นทุกท้องที่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความกตัญญูอย่างสูงยิ่งต่อบรรพบุรุษ เป็นประเพณีที่ชาวบ้านทุกครอบครัวไปทำบุญที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
วันรับตายาย จะตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ในวันนี้ชาวสุราษฎร์ธานีไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด มักเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อประกอบกิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะเป็นการกระทำเพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูแล้ว ยังเป็นการพบปะสังสรรค์ระหว่างญาติพี่น้องอีกด้วย ชาวบ้านทุกครอบครัวจะจัดอาหารคาวหวาน ดอกไม้ธูปเทียน ไปทำบุญที่วัด
วันส่งตายาย จะตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ซึ่งการทำบุญวันส่งตายายจึงมีความสำคัญพอกัน แต่ในวันส่งตายายจะจัดเตรียมอาหารคาวหวาน ต่าง ๆ เป็นพิเศษ พร้อมของใช้ในครัวเรือน เชื่อว่า จัดเตรียมให้ตายายนำกลับไปใช้พิธีกรรม
มีการทำบุญตักบาตรตั้งแต่ตอนเช้า นำอาหารถวายพระ ใส่บาตร แล้ว ยังนำไปวางบนร้าน เรียกว่า ร้านเปรตซึ่งสร้างยกพื้นขึ้นมากลางลานวัด เพื่อให้ชาวบ้าน และเด็ก ๆ เข้าแย่งอาหารหรือชิงเปรตกัน
ขนมตายายที่มักทำกันในเดือน ๑๐ ได้แก่ ขนมลา ขนมกรุบ ขนมจู้จุน ขนมบ้า ขนมไข่ปลา ยาหนม ขนมพอง ต้ม และผลไม้ต่าง ๆ แล้วแต่ละท้องที่
หลังจากทำบุญตอนเช้าเสร็จแล้วก็จะมีการบังสกุลบรรพบุรุษ บางท้องที่จะทำตอนเย็นเป็นอันเสร็จพิธี


ประเพณีลอยเรือ จ.กระบี่

      ประเพณีลอยเรือจัดขึ้นช่วง ๑๓-๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และเดือน ๑๑ ประเพณีที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษดั้งเดิมของชาวอูรักลาโวย ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกระบี่และจังหวัดใกล้เคียง เมื่อถึงเวลาที่กำหนดสมาชิกในชุมชนและญาติพี่น้องที่แยกย้ายถิ่นไปทำมาหากินในแถบทะเล และหมู่เกาะต่าง ๆ ในทะเลอันดามันจะพากันเดินทางกลับมายังถิ่นฐาน เพื่อประกอบพิธีนี้
ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ช่วงเช้า ชาวเลจะเดินทางไปบริเวณที่จะทำพิธี ผู้หญิงจะทำขนม ผู้ชายจะสร้างและซ่อมแซมที่พักชั่วคราว ช่วงเย็น ทั้งหญิงและชายจะไปรวมกันที่ศาลบรรพบุรุษเพื่อนำอาหารเครื่องเซ่นไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษเป็นการบอกกล่าวให้มาร่วมพิธีลอยเรือ
เช้าของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ผู้ชายส่วนหนึ่งเดินทางไปตัดไม้ เพื่อนำไม้มาทำเรือผู้หญิงจะร้องรำทำเพลง ในขณะที่รอรับไม้บริเวณชายฝั่ง แล้วขบวนแห่จะแห่ไม้ไปวนรอบศาลบรรพบุรุษเพื่อนำกลับมาทำเรือ "ปลาจั๊ก" คืนวันขึ้น ๑๔ ค่ำ มีพิธีฉลองเรือโดยมีการรำรอบเรือ เพื่อถวายวิญญาณบรรพบุรุษโดยใช้ดนตรีและเพลงรำมะนาประกอบวงหนึ่งและอีกวงจะเป็นการรำวงแบบสมัยใหม่มีดนตรีชาโดว์ประกอบการร้องรำ โต๊ะหมอจะทำพิธีในช่วงเริ่มฉลองเรือและมีพิธีสาดน้ำตอนเที่ยงคืน (เลฮฺบาเลฮฺ) และทำพิธีอีกครั้งในช่วงเช้าตรู่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ก่อนนำเรือไปลอยในทิศทางลมซึ่งแน่ใจว่าเรือจะไม่ลอยกลับเข้าฝั่ง หลังจากนั้นแยกย้ายกันนอนพักผ่อน บ่ายวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ผู้ชายส่วนหนึ่งแยกย้ายไปตัดไม้และหาใบกะพร้อเพื่อทำไม้กันผีสำหรับทำพิธีฉลองในเวลากลางคืน โดยมีพิธีกรรมเหมือนกับพิธีฉลองเรือทุกประการ จนกระทั่งใกล้จะสว่างโต๊ะหมอจะทำพิธีเสกน้ำมนต์ทำนายโชคชะตา และสะเดาะเคราะห์ให้สมาชิกที่เข้าร่วมพิธีก่อนจะอาบน้ำมนต์ และแยกย้ายกันกลับบ้านโดยนำไม้กันผีไปปักบริเวณรอบหมู่บ้านด้วย


ประเพณีการแห่นก จ.นราธิวาส

        ประเพณีการแห่นกจะจัดขึ้น ในโอกาสต่าง ๆ เพื่อความสนุกสนานรื่นเริง หรือในโอกาสการต้อนรับแขกเมืองของชาวนราธิวาส และยังจัดในพิธีการเข้าสุหยัด
ประเพณีการแห่นก เป็นประเพณีการทางพื้นเมืองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะที่นราธิวาส ซึ่งได้มีการกระทำสืบเนื่องกันมาเป็นเวลานาน เป็นประเพณีนิยมที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา ไม่เป็นประเพณีตามนักขัตฤกษ์ แต่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามโอกาส เพื่อความสนุกรื่นเริง เป็นการแสดงออกเกี่ยวกับการใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ในศิลปะและอาจจัดขึ้นในการแสดงความคารวะ แสดงความจงรักภักดี แก่ผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ หรือในโอกาสต้อนรับแขกเมือง บางทีอาจจัดขึ้นเพื่อความรื่นเริงในพิธีการเข้าสุนัต หรือที่เรียกว่า "มาโซยาวี" หรือจัดขึ้นเพื่อประกวดเป็นครั้งคราว นกที่นิยมทำขึ้นเพื่อ
การแห่มีเพียง ๔ ตัว คือ
๑. นกกาเฆาะซูรอหรือ นกกากะสุระ นกชนิดนี้ตามสันนิษฐานคือ "นกการเวก" เป็นนกสวรรค์ที่สวยงามและบินสูงเทียมเมฆการประดิษฐ์มักจะตบแต่งให้มีหงอนสูงแตกออกเป็น ๔ แฉก นกชนิดนี้ชาวพื้นเมืองเรียกว่า "นกทูนพลู" เพราะบนหัวมีลักษณะคล้ายบายศรีพลู และมีการทำให้แปลกจากนกธรรมดา เพราะเป็นนกสวรรค์
๒. นกกรุดา หรือ นกครุฑ มีลักษณะคล้ายกับครุฑ เชื่อกันว่านกชนิดนี้มีอาถรรพ์ ผู้ทำมักเกิดอาเพศ มักเจ็บไข้ได้ป่วย ในปัจจุบันจึงไม่นิยมจัดทำนกชนิดนี้ ในขบวรแห่
๓. นกบือเฆาะมาศ หรือนกยูงทอง มีลักษณะคล้ายกับนกกาเฆาะวูรอ มีหงอน สวยงามเป็นพิเศษ ชาวไทยมุสลิมยกย่องนกยูงทองมาก และไม่ยอมบริโภคเนื้อ เพราะเป็นนกที่รักขน การประดิษฐ์ตกแต่งรูปนกพญายูงทองนั้น จึงมีการตกแต่งที่ประณีตถี่ถ้วนใช้เวลามาก
๔. นกบุหรงซีงอ หรือนกสิงห์ มีรูปร่างคล้ายราชสีห์ ตามคตินกนี้มีหัวเป็นนก แต่ตัวเป็นราชสีห์ ปากมีเขี้ยวงาน่าเกรงขาม
ประเพณีการแห่นกนั้น สันนิษฐานว่า จะมีพิธีกรรมบางอย่าง เช่น การตั้งพิธีสวดมนต์ตามวิธีการทางไสยศาสตร์ เพื่อขับไล่หรือขจัดปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัย ให้หมดสิ้นไปให้มีความสุข ความเจริญก้าวหน้า